แหล่งท่องเที่ยว

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์ ประวัติศาสตร์โบราณคดี สุรินทร์


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนสุรินทร์-ปราสาท หมู่ที่ 13 ตำบลเฉนียง มีการจัดแสดงเป็น 4 ส่วน คือ อาคารที่ 1 เป็นโถงทางเข้าและทางเดิน อาคารที่ 2 เป็นส่วนการศึกษา ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องกิจกรรม ห้องรับรอง ห้องสมุด อาคารที่ 3 เป็นอาคารจัดแสดงและสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ อาคารที่ 4 เป็นคลังพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ห้องคลังโบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์และสงวนรักษา
เนื้อหาการจัดแสดงในห้องนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นช่วยค้นคว้าและรวบรวม โดยการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 5 เรื่อง คือ ธรรมชาติวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์เมือง ชาติพันธุ์วิทยา และมรดกดีเด่นประจำจังหวัด โดยจัดแสดงในอาคารที่ 3 ดังนี้
ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาในด้านต่างๆ ประวัติศาสตร์โบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์เมืองตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และมรดกดีเด่นในเรื่องการเลี้ยงช้าง
ชั้นบน จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายกูย และชาวไทยโคราช ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ และมรดกดีเด่นในงานหัตถกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้านในด้านต่างๆ
1. ธรรมชาติวิทยา ในส่วนนี้จัดแสดงเรื่องกายภาพของจังหวัดสุรินทร์ เนื้อหาประกอบด้วย สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ปฐพีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงเรื่องข้าวและการทำนาด้วย เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่ง โดยใช้เทคนิคการจัดแสดงที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้ชมมีความเข้าใจเนื้อหา และเกิดความเพลิดเพลินในการเข้าชม
2. ประวัติศาสตร์โบราณคดี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้คน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบหลักฐานในจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,000 - 1,500 ปีมาแล้ว สมัยวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งเริ่มประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 สมัยวัฒนธรรมขอมมีอายุประมาณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 - 18 จนถึงสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง-อยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 24 ในการจัดแสดง จะจำลองสภาพชีวิตและพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่สองในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสมัยทวารวดี ขอม และอยุธยา-ล้านช้าง ที่พบในจังหวัดสุรินทร์ หุ่นจำลองโบราณสถานประกอบการฉายวีดีทัศน์ เพื่อให้ผู้ชมได้เกิดความเข้าใจในการศึกษาทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะที่พบในจังหวัดสุรินทร์
3. ประวัติศาสตร์เมือง เนื้อหาในส่วนนี้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ โดยเริ่มจากชาวกูยช่วยจับช้างเผือกที่หลุดมาจากกรุงศรีอยุธยา และได้รับความดีความชอบตั้งเป็นบ้านเมือง การปฏิรูปการปกครองมาเป็นระบบเทศาภิบาลและระบอบประชาธิปไตย ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษา ในการจัดแสดง จะจำลองเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ เช่น การจับช้างเผือก การเดินรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ สภาพตลาดการค้าในยุคแรกๆ สภาพการศึกษาในอดีต โดยจำลองลงในตู้จัดแสดง ให้ผู้ชมสามารถซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ในอดีตมาจนเป็นจังหวัดสุรินทร์ปัจจุบัน
4. ชาติพันธุ์วิทยา เนื้อหาจะกล่าวถึงประชากรในจังหวัดสุรินทร์ ที่ประกอบด้วยชน 4 กลุ่มใหญ่ คือ ชาวกูย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับและฝึกช้าง ชาวเขมร กลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์มานานแล้ว ชาวลาว กลุ่มชนที่อพยพเข้ามาอยู่หลังสุด และชาวไทยโคราช เป็นชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบจังหวัดนครราชสีมา ในการจัดแสดง จะจำลองให้เห็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ โดยการจำลองบ้านเรือน หุ่นจำลองการประกอบพิธีกรรมของชาวไทยกูย ไทยเขมร ภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับขนบประเพณีและสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยลาวและชาวไทยโคราช ซึ่งจะสื่อถึงสภาพวิถีชีวิต ลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนที่ประกอบกันเป็นคนสุรินทร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบรรจุอยู่ใน Computer Touchscreen ให้ศึกษาค้นคว้าได้โดยละเอียด
5. มรดกดีเด่น เนื้อหาจะกล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ งานศิลปหัตถกรรม ได้แก่ การทำเครื่องประดับเงินและการทอผ้าไหม ศิลปการแสดงพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงเรือมต่างๆ การละเล่นเจรียงแบบต่างๆ รวมถึงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงกันตรึม และการเลี้ยงช้าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ในส่วนการจัดแสดง จะใช้หุ่นจำลอง ภาพถ่าย และวีดีทัศน์ เป็นสื่อให้เห็นถึงการผลิตและใช้ประโยชน์จากงานหัตถกรรม หุ่นจำลองและวีดีทัศน์เรื่องการจัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ฉากจำลองบรรยากาศหมู่บ้านเลี้ยงช้าง และวีดีทัศน์ ให้ผู้เข้าชมได้ทราบถึงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ที่มีมาในอดีตและยังคงรับใช้ชุมชนอยู่ในปัจจุบัน โบราณวัตถุที่จัดแสดง จัดแสดงตัวอย่างพันธุ์พืชและสัตว์ เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประติมากรรมและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมเขมร อาวุธโบราณ เครื่องประดับเงิน ผ้าไหม ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์นี้เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4451 3358 หรือ  www.thailandmuseum.com
ที่มา. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น