จังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองหนึ่งของอีสานใต้นอกเหนือจากบุรีรัมย์และศรีสะเกษ ซึ่งมีกลุ่มคนที่มีเชื้อสายมาจากขอมส่วย หรือกวย และลาวบ้างเล็กน้อย จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนภาษาพูดเป็นของตนเอง โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมของที่ระลึกประเภทผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีลวดลายสีสันเฉพาะตัว เครื่องเงิน หรือปะเกือม เครื่องจักสาน ไม่นับสินค้าพื้นเมือง เช่น ข้าวหอมมะลิ หัวผักกาด กุนเชียง หมูยอ ฯลฯ แต่ในคราวนี้อยากจะแนะนำผ้าไหม ผ้าทอพื้นเมืองที่สวยเด่น และเครื่องประดับที่ทำจากปะเกือมให้ได้รู้จักกัน
บ้านเขวาสินรินทร์ (อ่านว่า เขวา-สิ-นะ-ริน) อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสุรินทร์-จอมพระ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานานในเรื่องศิลปหัตถกรรมอันโดดเด่นของชาวสุรินทร์ เพราะชาวหมู่บ้านนี้มีฝีมือในการทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ที่เป็นลวดลายของชาวอีสานใต้ ทั้งลวดลายและวิธีการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไม่เหมือนใคร สีที่ใช้ในการย้อมผ้าได้จากธรรมชาติ เช่น ต้นครั่ง เข คราม มะหูด เป็นต้น นอกจากจะให้สีสันที่สวยงามติดทนนาน ไม่ฉูดฉาด ไม่ซีดง่ายแล้ว ยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ย้อมสีอีกด้วย
ผ้าไหมพื้นบ้านที่น่าสนใจโดยเฉพาะผ้าโฮลนั้น เป็นผ้าเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองสุรินทร์ ลวดลายเป็นทางยาว สีของผ้าเหมือนสีของเม็ดมะขาม ใช้สำหรับนุ่งในงานพิธีต่าง ๆ ผ้าไหมยกดอก คือผ้าที่มีการทอเพิ่มลวดลายเข้าไปในเนื้อผ้า ด้านหนึ่งมีลายที่คมชัดและเรียบ ส่วนอีกด้านมีลายหยาบเนื้อผ้าจะแลดูหนาและหนัก ผ้าไหมลายโครงสร้าง บ้างก็เรียกลายตาราง นิยมทอไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าจกลายปะเต๊าะ ลักษณะของผ้าทอจกดอกห่าง ๆ กระจายทั่วทั้งผืน ผ้าไหมพื้นเรียบ คือผ้าทอที่ไม่มีลวดลาย มีสีเดียวกันตลอดทั้งผืน และผ้าไหมหางกระรอก เป็นผ้าสีพื้น มีความมันระยิบระยับนิยมนุ่งในชีวิตประจำวัน
ส่วนการทำปะเกือม (เงินเม็ดกลม ๆ คล้ายกับลูกประคำ) ของดีอีกอย่างหนึ่งก็คือเครื่องเงินพื้นบ้านนั่นเอง โดยนำเม็ดเงินที่มีเนื้อเงินประมาณ 92.5 เปอร์เซนต์ ที่ซื้อมาจากร้านทอง หลอมให้เป็นแผ่นแล้วตีเป็นชิ้นงานก่อนจากนั้นจึงแกะสลักลวดลายต่าง ๆ เพื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มขัด ต่างหู ฯลฯ ลวดลายที่ใช้แกะสลัก ได้แก่ ลายกลีบบัว ลายดอกพิกุล ลายดอกจัน ลายข้าวหลามตัด ลายไทย และลายร่างแห ซึ่งเป็นลวดลายแบบดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและได้รับอิทธิพลมาจากเขมรต่ำ นอกจากนี้ยังมีลวดลายอื่น ๆ อีก เช่น ลายใบไม้ ลายฟักทอง ลายพระอาทิตย์ ฯลฯ ที่นำแบบมาจากธรรมชาติ แต่ประยุกต์ให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยและความต้องการของลูกค้า ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เนื่องจากสนนราคาของปะเกือมเมื่อเทียบกับเครื่องเงินในภูมิภาคอื่นแล้วราคาย่อมเยากว่า
เลยจากตลาดที่เป็นศูนย์จำหน่ายหัตถกรรมไปเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องทอผ้า ได้แก่ หมู่บ้านทอผ้าไหมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสามโค ตำบลปราสาททอง กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ หมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทอผ้าไหมพื้นเมืองซึ่งเป็นผ้าโบราณที่มีการทอสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคนเช่นกัน มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้าซึ่งเป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า โดนเส้นไหมที่นำมาทอจะสาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะเป็นไหมเส้นเล็ก นุ่ม เรียบ และเงางาม ใส่แล้วเย็นสบาย ไม่ร้อน เรียกว่าไหมน้อย (ภาษาเขมรเรียกโซคซัก)
ผู้ใหญ่บ้านประนอม ขาวงาม ประธานกลุ่มสตรีกิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์และเป็นประธานกลุ่มทอผ้าบ้านสามโคเล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของชาวเมืองสุรินทร์คือการทำนา เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวทุกคนก็จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยบ้านไหนที่เลี้ยงช้างก็จะนำช้างไปรับจ้างด้วย ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน กลุ่มแม่บ้านสามโคจึงรวมตัวกันเพื่อทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว โดยวางจำหน่ายที่ศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมของหมู่บ้าน และจะมีร้านในตัวเมืองมาเลือกซื้อไปจำหน่ายอีกทอด ซึ่งเดิมทีชาวบ้านก็ทอผ้าไว้ใช้สอยกันเฉพาะในครัวเรือนอยู่แล้ว ปัจจุบันมีโรงเลี้ยงไหมอยู่ในบริเวณหมู่บ้านจำนวนทั้งสิ้น 11 โรง
นอกจากแหล่งผลิตหัตถกรรมที่มีชื่ออย่างบ้านเขวาสินรินทร์และบ้านสามโคแล้ว ยังมีแหล่งผลิตงานหัตกรรมที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่นที่บ้านสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมืองฯ บ้านอู่โลก ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน บ้านเทนมีย์ ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมืองฯ บ้านจันรม ตำบลตาอ็อง อำเภอเมืองฯ
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหม สินค้าไทย ๆ ที่มีการทอสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน หรือหากท่านใดโปรดปรานเครื่องเงินที่เป็นงานหัตถกรรมฝีมือเยี่ยมจากภูมิปัญญาของช่างฝีมือไทยลวดลายโบราณที่คุงคุณค่าแก่การอนุรักษ์ ก็สามารถจับจ่ายได้ที่ศูนย์ศิลปหัตถกรรม ตำบลปราสาททอง กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ โทรศัพท์ (044) 50-2234 หรือเลือกจับจ่ายได้ที่ร้านภายในอำเภอเมืองฯ เช่น ร้านไหมไทย 5 ดาว ตั้งอยู่ที่ถนนธนสาร โทรศัพท์ (044) 51-1775 มีสินค้าให้เลือกหลายอย่าง เช่น ผ้าไหม เครื่องเงิน ของฝากพื้นเมือง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายผ้าไหมและเครื่องเงินที่ถนนจิตรบำรุง ได้แก่ ร้านไหมสุรินทร์ โทรศัพท์ (044) 51-3897 ร้านน้องหญิง โทรศัพท์ (044) 51-1616 ร้านคุณหงา โทรศัพท์ (044) 51-3433 และร้านสุรินทร์ไหมไทย โทรศัพท์ (044) 51-2159
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น